ติดต่อเรา

ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี เปิดวิสัยทัศน์‘มูลนิธิ 3R’ หนุนพลาสติกรีไซเคิล ร่วมขับเคลื่อน BCG โมเดล


“ผมเชื่อว่าทุกฝ่ายต่างทราบดี ว่าการหมุนเวียนใช้พลาสติกรีไซเคิลเป็นแนวทางที่เหมาะสมและควรได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ยิ่งถ้าสามารถนำเม็ดพลาสติกรีไซเคิลกลับไปผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารหรือขวดเครื่องดื่มได้ตามมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยด้วยแล้ว นอกจากจะเป็นการทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศได้มากขึ้น ยังเป็นการช่วยส่งเสริมให้กระบวนการแยกขยะตั้งแต่ต้นทางทำได้อย่างสมบูรณ์ขึ้น ขยะขวดพลาสติกใช้แล้วที่สะอาดไม่ปนเปื้อนสิ่งสกปรกถือเป็นขยะที่มีราคา ซาเล้งรับซื้อขวดพลาสติกใช้แล้วเหล่านี้ในราคาสูงเพราะเขาก็นำไปขายต่อโรงงานรีไซเคิลในราคาสูงได้เช่นกัน ตอนนี้ขยะพลาสติกภายในประเทศน่าจะเริ่มมีราคาเพิ่มขึ้นได้อีกเพราะผู้ประกอบการธุรกิจรีไซเคิลจำเป็นต้องใช้ขยะพลาสติกภายในประเทศทั้งหมด”
 


 

คือวิสัยทัศน์ของ ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ประธานมูลนิธิการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (มูลนิธิ 3R) ที่มีต่อ ‘ทางออก’ ในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทย ตามภารกิจหลักในการเป็นองค์กรนำในการผลักดันความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการส่งเสริม การบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิด 3R คือ การลดการใช้ (Reduce) การเพิ่มการใช้ซ้ำ (Reuse) และ การนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) รวมถึงการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปสงค์และอุปทานที่นำมาสู่การหมุนเวียนทรัพยากรเพื่อการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน (Sustainable Production and Consumption) พร้อมให้ความร่วมมือโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Biological) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green) หรือ BCG โมเดล เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจในประเทศไทยโดยมุ่งเน้นกิจกรรมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
 


 

ดร.วิฑูรย์กล่าวว่า มูลนิธิมีพันธกิจสำคัญในการส่งเสริมแนวความคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์และการพัฒนานวัตกรรมตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อลดปริมาณขยะ และเพิ่มการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ โดยเชื่อว่าพลาสติกรีไซเคิลเป็นอีกหนึ่งทางออกที่ช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติก และพร้อมสนับสนุนให้เกิดการใช้พลาสติกรีไซเคิลในประเทศไทย ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิ ซึ่งมีความพร้อมในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคการศึกษา เพื่อให้เกิดการคัดแยกและกำจัดขยะอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นให้มีการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดรวมถึงสนับสนุนและจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ และสร้างความตระหนักในคุณค่าของการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน
 


 

“จากการที่มูลนิธิได้มีการทำงานร่วมกันกับกลุ่มผู้ประกอบการพลาสติกและธุรกิจรีไซเคิล ทำให้ทราบว่าในประเทศไทยนั้น เม็ดพลาสติกรีไซเคิล หรือ rPET ที่ผลิตจากขวดพลาสติกใช้แล้วมีปริมาณราว 20,000 ตันต่อปี โดยมากกว่าร้อยละ 50 เป็นการผลิต rPET ของผู้ผลิตรายใหญ่ที่สามารถผลิต rPET สำหรับฟู้ดเกรดและไฟเบอร์เกรด แต่ rPET ฟู้ดเกรดทั้งหมดไม่ได้ถูกนำกลับไปใช้หมุนเวียนในอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศเพื่อผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ขวดและบรรจุภัณฑ์อาหาร แม้กระบวนการผลิต rPET ในประเทศไทยจะผ่านมาตรฐานรับรองคุณภาพระดับโลกทั้งจากยุโรปและอเมริกาซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ประเทศชั้นนำทั่วโลกให้การยอมรับในเรื่องความสะอาด ปลอดภัย และให้การส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มใช้ rPET มาเป็นเวลานานแล้ว”
 

สำหรับข้อมูลจากฝั่ง ผู้ประกอบการพลาสติกและธุรกิจรีไซเคิล เปิดเผยว่า อุปสรรคสำคัญในเรื่องนี้ คือ ข้อติดขัดทางกฎหมายในเรื่องที่ว่า

‘ห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหาร เว้นแต่ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือก’ ส่งผลให้ปัจจุบัน ผู้ประกอบการรีไซเคิลต้องส่งออกเม็ดพลาสติกรีไซเคิลฟู้ดเกรดที่ผลิตได้ทั้งหมดไปยังตลาดต่างประเทศที่มีความต้องการสูง เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีมาตรฐานรับรองความปลอดภัยต่อสุขภาพในการใช้ rPET มาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม
 

ทั้งนี้ การผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่มในประเทศไทย กฎหมายอนุญาตให้ใช้เฉพาะเม็ดพลาสติกใหม่ (Virgin plastic) ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ไทยผลิตได้เองส่วนหนึ่งจากกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และส่วนหนึ่งมาจากการนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคพลาสติก โดยประเทศไทยมีการผลิตขวดพลาสติกออกสู่ตลาดในประเทศประมาณปีละ 300,000 ตัน นั่นหมายความว่าจะยังคงมีขยะพลาสติกที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์อาหารและขวดเครื่องดื่มปริมาณมหาศาลทุกๆ ปี แม้ว่าส่วนหนึ่งของพลาสติกบรรจุภัณฑ์เหล่านั้นจะถูกนำกลับไปรีไซเคิลได้เพราะมีการร่วมมืออย่างเข้มแข็งจากภาคประชาชนในการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง แต่เม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่ผลิตได้กลับถูกนำไปหมุนเวียนใช้ในอุตสาหกรรมอื่นที่มีการบริโภคพลาสติกน้อยกว่าอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

ดังนั้น ถ้าหากประเทศไทยสามารถหมุนเวียนใช้พลาสติกในอุตสาหกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มได้ ก็เท่ากับสามารถลดการใช้พลาสติกใหม่ลงได้เช่นกัน
 

“มูลนิธิ 3R เชื่อว่าหากมีการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายโดยเฉพาะหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่ม กลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ เป็นต้น ประเทศไทยอาจเร่งให้เกิดการแก้ไขข้อกฎหมายเพื่อปลดล็อกอุปสรรค ซึ่งถือเป็นการดำเนินงานในแนวทางที่สอดคล้องกับโรดแมปการจัดการขยะของรัฐบาล เพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย BCG โมเดล” ประธานมูลนิธิ 3R แนะ
 

นี่คือประเด็นสำคัญที่ต้องหันมามองร่วมกันเพื่อสิ่งแวดล้อมในวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า
 

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : https://www.tei.or.th/th/highlight_detail.php?event_id=990