ติดต่อเรา

มตินำเข้าเศษพลาสติก 2 ปี เปิดช่องขยะทะลักไทย?


มตินำเข้าเศษพลาสติก 2 ปี เปิดช่องขยะทะลักไทย?

เคาะเรียบร้อยสำหรับ “มติการนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ” ด้วยการผ่อนผันขยายให้โรงงานอุตสาหกรรมในเขตปลอดอากร 14 แห่ง สามารถนำเข้าได้อีก 2 ปี ในโควตา 5.5 แสนตัน เริ่มตั้งแต่ปี 2566-2567 และในปี 2568 ก็จะประกาศห้ามนำเข้าในทุกกรณีโดยเด็ดขาด

ตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ครั้งที่ 1/2565 เรื่องนี้กลายเป็นข้อกังวลให้ “ภาคประชาสังคมที่เคลื่อนไหวคัดค้านมาตั้งแต่ปี 2561” ที่นโยบายถูกปรับเปลี่ยนตลอดเวลาไม่เคยมีข้อสรุปชัดเจนด้วยซ้ำ ชัยยุทธิ์ พลเสน นายกสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า บอกว่า

 

เมื่อกลางเดือน ก.ย.2565 “คณะอนุกรรมการฯ” ได้มีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมศุลกากร กรมการค้าต่างประเทศ กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า มูลนิธิบูรณะนิเวศ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันการศึกษาต่างๆ

เพื่อพิจารณาเห็นชอบในหลายประเด็นสรุปคราวๆคือ เรื่องแรก...“ห้ามโรงงานรีไซเคิลทั่วไปนำเข้าเศษพลาสติก” เพราะไม่มีผู้ประกอบการร้องขอ แต่ในการนี้ “กรมโรงงานอุตสาหกรรม” เสนอให้มีการสำรวจโรงงานทั่วไปอีกครั้ง กรณีไม่มีตัวเลขร้องขอการนำเข้านั้นเกิดจากเศษพลาสติกในประเทศเพียงพอ หรือสาเหตุอื่นใด

ถัดมาคือ “อนุญาตให้โรงงานในเขตปลอดอากรสามารถนำเข้าเศษพลาสติกได้อีก 2 ปี” โดยผ่อนผันให้โรงงาน 14 แห่ง อันเป็นข้อเสนอมาจาก “กรมศุลกากร” เพราะได้รับเรื่องร้องขอมาจาก “ผู้ประกอบการ” ที่ยังมีความ ต้องการนำเข้าเศษพลาสติกอีกมาก ในการผลิตแปรรูปพลาสติกเพื่อการส่งออกนั้น

ส่วนใหญ่มักเป็น “โรงงานการผลิตเม็ดพลาสติก เกล็ดพลาสติก และโรงงานส่งออกเศษพลาสติก” ที่ผ่านการตรวจสอบความจำเป็นต้องนำเข้าและผ่านการประเมินความสามารถในการผลิตจริงจากคณะทำงานผู้แทนกรมควบคุมมลพิษ กรมศุลกากรและอุตสาหกรรมจังหวัดมาตั้งแต่ปี 2564

เดิมส่งรายชื่อมา 15 แห่ง แต่ด้วยอีก 1 แห่งนั้นต้องถูกตัดออกเนื่องจาก “ไม่มีเครื่องจักรในการผลิต” ทำให้โรงงานที่ได้รับการผ่อนผันเหลืออยู่ 14 แห่ง สามารถนำเข้าเศษพลาสติกได้อีก 2 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2567

มีเงื่อนไขคือ ปีที่ 1...ตั้งแต่ 1 ม.ค.2566 ให้โรงงานอุตสาหกรรมในเขตปลอดอากรนำเข้าได้ 100% ของความสามารถในการผลิตจริง หรือปริมาณรวมไม่เกิน 372,994 ตัน ปีที่ 2 ตั้งแต่ 1 ม.ค.2567 ให้นำเข้าได้ไม่เกิน 50% หรือไม่เกิน 186,497 ตัน ดังนั้นหากรวม 2 ปี มีการอนุญาตให้นำเข้าเศษพลาสติกทั้งหมด 5.5 แสนกว่าตัน

ในระหว่าง 2 ปีนี้ “ห้ามสำแดงเป็นขยะเกิน 5%” โดยนำเศษพลาสติกเข้ามาเท่าใดก็ต้องนำออกไปเท่านั้น เพื่อไม่ให้ประเทศไทยกลายเป็นที่ทิ้งขยะโลก แล้วเข้าสู่ปีที่ 3 ตั้งแต่ ม.ค.2568 “ห้ามนำเข้าทุกกรณี” เด็ดขาด

เรื่องนี้ “กรมศุลกากร” การันตีด้วยมีการชี้แจงระบบการบริหารจัดการควบคุมดูแลการนำเข้าเศษพลาสติกในเขตปลอดอากรปี 2564 มีการนำเข้า 1.5 แสนตัน ในจำนวนนี้ไหลออกเป็นรูปแบบขยะฝังกลบ และขยะเผาทำลาย 2 พันตัน และปี 2565 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ส.ค. นำเข้ามาราว 105,000 ตันไหลออกเป็นรูปแบบขยะ 900 ตัน

ตัวเลขขยะนี้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ความเหมาะสมแต่ว่า “ภาคประชาสังคม” ก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการลักลอบแปรรูปเป็นพิกัดอื่นๆ เช่น ผลิตเป็นชิ้นงานแล้วนำมาขายในประเทศ เหตุนี้จึงได้เสนอให้ “กรมศุลกากร” ชี้แจงต่อกรณีในปี 2564-2565 นำเข้าจริงเท่าใด รีไซเคิลส่งออกเท่าไร และตัวเลขไม่มีการส่งออกนั้นหายกี่เปอร์เซ็นต์

ตรงนี้ก็ยังไม่ได้รับคำชี้แจงคงต้องตามต่อการประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯที่จะมีในเดือน ต.ค.นี้

จริงๆแล้ว “ประเทศไทยห้ามนำเข้าเศษพลาสติกมาตั้งแต่ปี 2563” แต่มีเหตุการณ์หลายคนคาดไม่ถึงด้วย “กรมศุลกากร” เปิดอนุมัติให้ผู้ประกอบการในเขตปลอดอากรนำเข้าได้ภายใต้กฎหมายพิเศษเป็นปกติปีละ 2 แสนตันอยู่แล้ว คราวนั้น “ภาคประชาสังคม” จึงต้องเรียกร้องให้ยกเลิกนำเข้าในเขตปลอดอากรมาตั้งแต่ต้นปี 2565

กระทั่ง “คณะอนุกรรมการฯ” ได้หยิบยกปัญหานี้มาพิจารณา 8 เดือนก็ไม่มีข้อสรุป แล้วยิ่งมีข่าวว่า “ต้นปี 2566 อาจมีการยุบสภาฯ” เป็นผลให้ประธานคณะอนุกรรมการฯผู้มีจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการนำเข้าเศษพลาสติกอาจถูกเปลี่ยนตัว สุดท้ายที่ประชุมมีข้อสรุปรับหลักการอนุญาตให้นำเข้าในเขตปลอดอากร 2 ปีไปก่อน

แล้วค่อยออกข้อปฏิบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการนำเข้า และบทลงโทษ อันมีจุดมุ่งเน้นสำคัญคือ “นำเข้ามาเท่าใดก็ต้องนำออกไปเท่านั้น” โดยห้ามไหลออกมาอยู่ในประเทศไทยโดยเด็ดขาด

มิเช่นนั้นอาจซ้ำรอยในปี 2561-2563 โรงงานรีไซเคิลทั่วไปนำขยะแฝงเป็นเศษพลาสติกเข้ามาล้านกว่าตัน ถูกแปรรูปส่งออกนอกประเทศ 4 แสนกว่าตัน และอีก 6 แสนกว่าตันหายออกจากระบบ แม้เคยมีหนังสือทวงถามกับหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลายครั้ง “แต่ก็ไม่เคยมีคำตอบ” จนปัจจุบันนี้ก็ยังตามหาเศษพลาสติกนั้นไม่เจอ

หนำซ้ำ “ตัวเลข 6 แสนตันหายปริศนานี้” มีเอกสารการอนุมัติโควตาออกโดยหน่วยงานภาครัฐให้โรงงาน 4 พันกว่าแห่ง “บางแห่งไม่เกี่ยวกับการผลิตพลาสติก” จนมีการลักลอบสำแดงเท็จสามารถตามจับได้ถึงโรงงานก็มี หรือด่านศุลกากรตรวจพบการสำแดงเท็จกักไว้ 2 พันกว่าตู้ก็มี แต่ยังไม่มีใครต้องถูกลงโทษในเรื่องนี้ด้วยซ้ำ

สิ่งนี้เป็นบทเรียนมองอนาคตให้ “กำหนดข้อปฏิบัติและบทลงโทษให้ชัดเจน” เพราะการอนุญาตนำเข้าเศษพลาสติก 2 ปี 5.5 แสนตัน ด้วยการยึดตาม ฐานความสามารถของเครื่องจักรในการผลิตได้จริงมาคำนวณคูณด้วย 365 วัน ทำให้ได้ตัวเลขความต้องการนำเข้าของ 14 โรงงาน จำนวน 3.7 แสนตันต่อปี

ถือว่า “เป็นตัวเลขเยอะมาก” ทำให้ตั้งข้อสังเกตว่า “การนำเข้าเศษพลาสติกมากขนาดนี้ขอเผื่อกักตุนไว้ใช้หลังการห้ามในปี 2568
หรือไม่” เพราะตัวเลข 5.5 แสนตัน สามารถเหลือผลิตได้อีก 1 ปีแบบสบายๆ

สิ่งที่กังวลกว่านั้นคือ “เศษพลาสติก” บางส่วนอาจหลุดออกมาขายให้โรงงานนอกเขตปลอดอากรกลายเป็นท่อเชื่อมต่อโรงงานไม่ได้รับอนุญาต หรือบริษัทลูกที่ตั้งอยู่นอกเขตก็ได้ เพราะเริ่มมีกลิ่นสัญญาณโรงงานผลิตขวดพอลิเอทิลีน เทเรฟทาเลต (PET) ขนาดใหญ่ 4-5 แห่ง ได้ชะลอรับซื้อขวดพลาสติกมา 2 เดือนอย่างมีนัยสำคัญ

อ้างเหตุผลว่า “พื้นที่รับซื้อเต็ม” แต่ความจริงคือรอมติขยายการนำเข้าให้ชัดเจน “เพื่อกดราคาซื้อขายขวด PET ในประเทศต่ำลง” ทำให้ร้านรับซื้อของเก่าขายขวดประเภทนี้ได้รับผลกระทบขายออกได้ยากมากขึ้นอย่างเช่นเมื่อเดือน ก.ค.2565 ราคาขวดพลาสติกหน้าโรงงานซื้อที่ 18 บาท/กก. ในเดือน ก.ย.ราคาซื้อลดลงเหลือ 12-13 บาท/กก. ดังนั้นถ้าเดือน ม.ค.2566 เริ่มนำเข้าเศษพลาสติกแล้วโรงงานภายนอกเขตปลอดอากรสามารถเกี่ยวของออกมาได้ตามที่เคยทำกัน จะทำให้ราคาขวดพลาสติกรีไซเคิลในประเทศถูกกดต่ำลงเช่นนี้ไปเรื่อยๆ

เพราะต้นทุนเศษพลาสติกจากต่างประเทศอยู่ที่ 3 บาท/กก. นำเข้ามาถึงเมืองไทยมีค่าใช้จ่ายอีก 3 บาท/กก. รวมต้นทุน 6 บาท/กก. กลายเป็นข้อกังวล เชื่อว่า “หมดการอนุญาตปี 2567 น่าจะขอขยายโควตาอีกแน่” ด้วยยกเหตุผลทำนองว่า “ผู้ประกอบการยังปรับตัวไม่ได้” แล้ววัตถุดิบนำเข้านั้นยังไม่เพียงพอต่อการส่งออก

ขณะที่ “หน่วยงานภาครัฐ” อาจหนุนยกข้ออ้างเกี่ยวกับผู้ประกอบการมีจีดีพีการส่งออกสูงต่อเนื่องต้องขยายตัวโรงงานใหม่เพิ่มขึ้น “อันเป็นตุ๊กตา” มาทดแทนผู้ประกอบการรายเดิมหมดโควตานั้น ลักษณะคล้ายๆ เหตุการณ์ปี 2560 โควตาเก่าหมดไปก็ขอขยายใหม่ไปเป็นปี 2563 เมื่อถึงวันนั้นก็ยังขยายเพิ่มอีกจนถึงวันนี้

สุดท้ายเรื่องนี้เดือน ต.ค.2565 จะมีการประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯ เพื่อหารือจัดทำหลักเกณฑ์ วิธีการ และบทลงโทษ จากนั้นก็เสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พิจารณาให้ความเห็นชอบมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติต่อไป

นี่คือความคืบหน้า “การอนุญาตให้นำเข้าเศษพลาสติกอีก 2 ปี เป็นจำนวน 5.5 แสนตัน” อันเป็นตัวเลขการนำเข้าทะลุร้อยเปอร์เซ็นต์ กลายเป็นความท้าทาย “คนไทย” ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดกันต่อไป

ย้ำว่าทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อนำเข้ามาจากต่างประเทศ 100% ก็ต้องผลักดันออกนอกประเทศ 100% ไม่ควรไหลมาถูกทิ้งไว้ก่อปัญหาให้บ้านเรา แล้วผู้ใดเป็นผู้ก่อกำเนิดขึ้นมาผู้นั้นต้องรับผิดชอบด้วย.

 
ขอบคุณแหล่งที่มา https://www.thairath.co.th/news/local/2537360