จากสถานการณ์ของ Covid – 19 ที่มีการระบาดในตอนนี้ ได้มีสิ่งที่เป็นตัวช่วยให้ประชาชนและผู้ประกอบการ ในอุตสาหกรรมได้โล่งอก นั่นคือการวัคซีนโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันวัคซีนที่กระจายไปมีประมาณ 2,100,000 โดส (เป็นข้อมูลสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. -3 พ.ค. 2564) มีการฉีดวัคซีนโควิดไปแล้ว 1,498,617 โดส โดยผู้ที่ฉีดไปแล้วต้องรอประมาณ 3-4 สัปดาห์จึงจะฉีดเข็มที่ 2 นอกจากนี้ยังมีการเปิดให้ลงทะเบียนเพื่อขอรับวัคซีนอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐฯ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและสร้างภูมิคุ้มกันจาก Covid-19 เหตุการณ์ในข้างต้นแสดงให้เราได้เห็นถึงความสำคัญของวัคซีน ที่เป็นความหวังในการช่วยป้องกันการระบาดของ Covid-19 ให้กับประชาชนและผู้ประกอบการอย่างเราได้ แต่สิ่งที่ควบคู่ไปกับวัคซีนและมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน คือ หลอดฉีดยา โดยหลอดฉีดยาที่เราเห็นในปัจจุบันถูกผลิตจากวัสดุพลาสติกเกือบทั้งชิ้น เพื่อให้ผู้อ่านและผู้ประกอบการที่สนใจหลอดฉีดยา ได้เข้าใจและรู้จักกับผลิตภัณฑ์หลอดฉีดยาจากพลาสติกมากยิ่งขึ้น ในวันนี้ทางสถาบันพลาสติกจะพาไปทำความรู้จักผลิตภัณฑ์หลอดฉีดยาให้มากขึ้น ว่ามีการผลิตมาจากวัสดุใด และขั้นตอนการผลิตจะเป็นอย่างไรกันบ้าง

     อ้างอิงจากบทความ ฐานข้อมูลโครงสร้างอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ (Medical Devices Intelligence Unit : MedIU)  รายงานทางสถิติของตลาดหลอดฉีดยาโลก หากย้อนไปในปี 2561 พบว่า ตลาดหลอดฉีดยามีอัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 5.6 มีมูลค่าทางการตลาด 7.10 พันล้านเหรียญสหรัฐและคาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นไปถึง 11 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2026 โดยตลาดมีความนิยมการใช้หลอดฉีดยาแบบใช้แล้วทิ้งที่ทำด้วยพลาสติก กว่าร้อยละ 99  เมื่อเปรียบเทียบกับหลอดฉีดยาที่ทำจากวัสดุแก้วและวัสดุอื่นๆ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เข็มฉีดยาเป็นที่ต้องการของตลาดในปัจจุบันได้แก่ อุบัติการณ์ของโรคเรื้อรังที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

     หลอดฉีดยามีหลายขนาดและหลายประเภท ตามแต่ละวัตถุประสงค์ในการใช้งานทางการแพทย์ อาทิ หลอดฉีดยาทั่วไป หลอดฉีดยาสำหรับฉีดสารอินซูลิน (insulin) หลอดฉีดยาวัคซีน หลอดฉีดยาชาหรือยาสลบ หลอดฉีดยาชนิดใช้แล้วทิ้งส่วนใหญ่มักผลิตจากวัสดุชนิดพอลิโพรไพลีน (polypropylene) ได้รับการออกแบบให้มีหลายขนาดตั้งแต่ขนาด 1 มล. 2 มล. 5 มล. 10 มล. และ 50 มล. หลอดฉีดยาสำหรับฉีดวัคซีน อาจมีขนาดบรรจุ 1 มล. และ 3 มล. และต้องเป็นหลอดฉีดยาที่สามารถถอดเปลี่ยนหัวเข็มได้เท่านั้น ใช้คู่กับเข็มเบอร์ 21-25 ในการผสมหรือดูดวัคซีนจากขวดนั้นให้พิจารณาขนาดเข็มที่ใช้ให้เหมาะสมกับปริมาณตัวยา เนื่องจากวัคซีนบางชนิดจำเป็นต้องมีการดูดหลายครั้ง ผู้ใช้เข็มต้องสังเกตเบอร์ของเข็ม เพื่อใช้งานได้อย่างเหมาะสมกับวัคซีน เช่นเบอร์ 25 ความยาว 1 นิ้ว จะใช้สำหรับฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ เข็มเบอร์ 26 หรือ 27 ความยาว1/2 นิ้ว สำหรับฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง  

     วิธีการใช้งานคือ ผู้ใช้ควรล้างมือให้สะอาด สวมถุงมือทุกครั้งที่ใช้งาน จากนั้นกดก้านสูบภายในตัวกระบอกฉีดยาจุ่มปลายเข็มฉีดยาในตัวยา จากนั้นค่อยๆ ดึงก้านสูบขึ้นเพื่อทำการดูดตัวยา ในปริมาณที่ต้องการ(เครื่องหมายปริมาตรบนหลอดฉีดยา) จากนั้นใช้ปลายเข็มฉีดยาฉีดลงบนผิวหนังหรือภาชนะโดยให้ทำมุมประมาณ 90 องศา หลังใช้งานปลดเข็มฉีดยาออกจากกระบอกฉีดแล้วเก็บทิ้งใส่ภาชนะให้เรียบร้อย เพื่อคัดแยกสู่ขยะติดเชื้ออย่างเหมาะสมโดยการทิ้งในถังขยะเฉพาะที่โรงพยาบาลหรือคลินิกจัดหาไว้ให้

รู้จักชิ้นส่วนของหลอดฉีดยา สำหรับหลอดฉีดมีส่วนประกอบสำคัญ 4 ชิ้นส่วน  ได้แก่

1.ส่วนกระบอกสูบ

     ผลิตด้วยกระบวนการขึ้นรูปหลอด เครื่อง Syringe Extruder Machine  วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตตั้งต้นพลาสติกชนิด polypropylene (PP สัญลักษณ์หมายเลข 5) หรือแก้วที่อยู่ในรูปของเม็ดหรือผง ถูกนำสู่เครื่องอัดรีดผ่านทาง ช่องใส่ (Hopper) กระบวนการขึ้นรูปจะทำ การอัดรีดพลาสติกผ่านความร้อน (heated chamber) เกลียวจะถูกนำมาใช้เพื่อขึ้นรูปพลาสติกเหลวให้เป็นทรงกระบอก

     กระบวนการพิมพ์เครื่องหมายปริมาตรบนหลอดฉีดยา  โดยใช้เครื่อง Syringe Printing machine ขีดและตัวเลขบอกปริมาตรจะถูกพิมพ์ลงบนหลอดฉีดยา เครื่องพิมพ์จะต้องมีความ แม่นยำและเที่ยงตรง ต้องผ่านการสอบเทียบ เพื่อให้มั่นใจว่าเครื่องหมายจะถูกปริ้นท์ในตำแหน่งที่ถูกต้อง หลังจากนั้นหลอดฉีดยาจะถูกประกอบเข้ากับส่วนของก้านสูบ ส่วนยาง ลูกสูบ ส่วนเข็ม ปลอกเข็ม และทำการบรรจุ

2.ส่วนก้านสูบ 

     ผลิตด้วยกระบวนการขึ้นรูปก้านสูบ เครื่อง Syringe Injection Molding Machine วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตตั้งต้นพลาสติกชนิด polypropylene (PP สัญลักษณ์หมายเลข 5) โดยก้านสูบหรือปลอกเข็มฉีดยาจะมีความซับซ้อนในรูปทรงมากกว่าตัวหลอด จึงต้อง อาศัยการฉีดเพื่อขึ้นรูป

3.ส่วนยางติดปลายก้านฉีด ผลิตจากยางพารา จากนั้นนำชิ้นส่วนของยางมาประกอบเข้ากับก้านสูบเพื่อใช้งาน

4.หัวเข็ม (เบอร์ 14 ถึง 27) ผลิตจากวัสดุสแตนเลส จากนั้นนำมาเข้าสู่กระบวนการประกอบและบรรจุเพื่อใช้งาน

กระบวนการผลิตหลอดฉีดยา

     ทั้งนี้การผลิตหรือการนำเข้าเพื่อจำหน่ายเข็มฉีดยาในบ้านเรา ต้องคำนึงถึงมาตรฐาน “ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยเรื่อง มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกระบอกฉีดยาผ่านใต้ผิวหนังปราศจากเชื้อชนิดใช้ครั้งเดียว มอก. 777-2552” ด้วย

การบริหารจัดการหลอดฉีดยาหลังการใช้งาน

     หลังจากที่ได้ทำความรู้จักกับหลอดฉีดยาไปแล้ว อีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ขาดไม่ได้เมื่อใช้แล้วจะต้องทำอย่างไร โดยหลอดฉีดยาจัดว่าเป็นขยะมูลฝอยติดเชื้อ หากขาดการดูแลอย่างถูกต้อง อาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของผู้ใช้งานได้ กลุ่มผลิตภัณฑ์หลอดฉีดยาจึงต้องมีการดูแล คัดแยก เก็บรวบรวม และการจัดการที่ถูกต้อง,ปลอดภัยตามมาตรฐาน ซึ่งสามารถสรุปเป็นขั้นตอนได้ดังนี้

1.การคัดแยก

     สำหรับหลอดฉีดยาจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มขยะติดเชื้อ การคัดแยกจึงต้องถูกคัดแยกตั้งแต่เริ่มต้นการใช้งาน ด้วยการไม่ทิ้งปะปนรวมกับขยะประเภทอื่น ที่ไม่มีการปนเปื้อนในอุปกรณ์หรือภาชนะสำหรับจัดเก็บอย่างเหมาะสม

2.การเก็บรวบรวม

     กลุ่มผู้ใช้งานหรือแพทย์ จะมีภาชนะสำหรับรองรับรวบรวมเพื่อนำไปกำจัดต่อ ซึ่งอาจจะเป็นกล่องหนา หรือ ภาชนะบรรจุที่มีความหนาป้องกันการทิ่มทะลุ ควรรวบรวมประมาณ 3 ใน 4 ส่วนของภาชนะ เพื่อให้เหลือพื้นที่ไว้ปิดฝาภาชนะและป้องกันการปิดไม่สนิท หรือทิ่มทะลุขณะปิดฝาภาชนะ จากนั้นหลอดฉีดยาที่ถูกบรรจุรวมกันในภาชนะ จะต้องถูกนำไปยังจุดขนย้ายเพื่อดำเนินการต่อไป และที่สำคัญอุปกรณ์ที่ใช้ในการขนย้ายต้องการมีการดูแลและทำความสะอาดหลังจากใช้งานแล้วทุกครั้ง

3.การขนย้าย

     สำหรับหลอดฉีดยาที่ผ่านการใช้งาน การคัดแยก และการรวบรวมแล้วอีกขั้นตอนก่อนการกำจัดคือการขนย้าย ในขั้นตอนนี้ ส่วนมากทางโรงพยาบาลหรือจุดบริการอนามัยต่างๆ จะมีเครื่องมือสำหรับการขน ทั้งรถเข็น หรือถังขยะแดง ตามความเหมาะสมเพื่อสามารถขนย้ายไปสู่จุดเพื่อเตรียมการกำจัดต่อไป

4.การกำจัด

     หลอดฉีดยา จัดเป็นขยะติดเชื้อ เมื่อผ่านการคัดแยกและรวบรวมแล้ว วิธีการกำจัดสำหรับขยะกลุ่มนี้มักเป็นแนวทางเดียวคือการกำจัด โดยการกำจัดจะต้องผ่านกระบวนการ 2 ส่วน

1. การทำลายเชื้อ ในการทำลายเชื้อจะมีด้วยกันหลากหลายวิธี ทั้งการทำลายเชื้อด้วยไอน้ำ การทำใช้ความร้อนแต่ในที่นี้ขอพูดถึงวิธีการเผาทำลายเชื้อโรค โดยการเผาทำลาย ซึ่งเตาเผาต้องมีห้องเผามูลฝอยติดเชื้อเผาที่อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 760 องศา และห้องเผาควันและก๊าซพิษที่อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 1,000 องศา

2.การกำจัดขั้นสุดท้าย เป็นการนำกากที่เหลือจากการทำลายเชื้อจนมั่นใจว่าปลอดภัย แล้วนำไปกำจัดด้วยวิธีการที่ถูกหลักสุขาภิบาล เช่น การฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล

     เพิ่มเติมในส่วนการดูแลหลังการใช้งาน สำหรับผู้ใช้งานหลอดฉีดยา ที่มีความจำเป็นต้องนำหลอดฉีดยากลับไปใช้ในชีวิตประจำวันสามารถนำหลอดฉีดยาที่ใช้แล้วไปจัดทิ้งอย่างถูกวิธีโดยฝากทางโรงพยาบาลที่ผู้ใช้งานใช้บริการอยู่ได้ด้วย เพื่อให้หลอดฉีดยาติดเชื้อเหล่านี้สามารถถูกกำจัดได้อย่างถูกวิธีและสุขลักษณะ

     สถาบันพลาสติกร่วมเป็นหนึ่งหน่วยงานที่เป็นห่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid – 19 ขอส่งกำลังใจไปยังผู้ป่วยและผู้ที่รักษาตัวทุกท่าน ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ ที่ร่วมต่อสู้งกับการแพร่ระบาดของ Covid – 19 ณ ขณะนี้ นอกจากนี้สถาบันพลาสติกยังพร้อมให้การสนับสนุนการพัฒนาเพื่ออุตสาหกรรมการแพทย์ที่ก้าวหน้า ทั้งการออกแบบและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์จากพลาสติก และที่สำคัญสถาบันพลาสติกยังมีเว็บไซต์ข่าวสารอุตสาหกรรมทางการแพทย์ภายใต้ชื่อ medicaldevices.oie.go.th จากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้ผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ได้ศึกษาและติดตามอย่างใกล้ชิด

อ้างอิงเนื้อหาโดย
medicaldevices.oie.go.th
th.misumi-ec.com
www.hfocus.org
www.phraehospital.go.th
www.phh.go.th
env.anamai.moph.go.th
https://www.itc.or.th/?p=16858