คงจะต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ จากเดิมที่มักจะมองกันว่า พลาสติกคือตัววายร้าย สร้างขยะจำนวนมหาศาล เป็นนวัตกรรมพลาสติกทางการแพทย์
โดยเฉพาะเมื่อบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้มีมติอนุมัติ จัดตั้ง “บริษัท อินโนโพลีเมด จำกัด” เพื่อผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ "ผ้าไม่ถักไม่ทอ" (Non-woven Fabric) ที่ขึ้นรูปด้วยวิธี Melt Blown ที่เป็นวัตถุดิบหลักสำหรับผ้าชั้นกรองหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ชุดกาวน์ และแผ่นกรองอากาศ ทดแทนการนำเข้าวัตถุดิบ เพิ่มเสถียรภาพและความสามารถในการแข่งขันการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ไทยให้ทัดเทียมกับสากล
การที่ตั้งบริษัท อินโนโพลีเมด จึงถือเป็นการสร้างปรากฏการณ์ เปลี่ยนมุมมองใหม่ที่พลาสติกไม่ใช่วายร้ายอีกต่อไป หากเป็นพระเอกในการสร้างฐานการผลิตนวัตกรรมทางการแพทย์ ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงที่ทั่วโลกประสบปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์
ด้วยทรัพยากรเส้นใยปิโตรเคมี polypropylene non-woven ที่มีจำนวนมากพอที่จะนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤติระบาดของโควิด -19
อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่กำลังขาดแคลนและมีความต้องการจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย ผ้าและแผ่นกรอง ชุดกาวน์ ซึ่งทำจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี polypropylene เป็นส่วนประกอบสำคัญ
เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าอุตสาหกรรมผลิตหน้ากากอนามัยในส่วนต้นน้ำผลิตผ้าชั้นใน ผ้าชั้นนอก และแผ่นกรองซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของหน้ากากอนามัย ผลิตจากเส้นใยไม่ถักไม่ทอประเภท polypropylene non-woven ซึ่งต้องใช้เส้นใยจาก เม็ดพลาสติกโพลิโพรพิลีน (polypropylene) เพื่อทำเป็นนอนวูฟเวนชนิดเมลต์โบลน (melt blown non-woven)
โดยเส้นใยดังกล่าวจะมีลักษณะเล็กละเอียดในระดับนาโนเมตร-ไมโครเมตร มีคุณสมบัติในการป้องกันเชื้อโรคหรือฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ดี และ สามารถระบายอากาศได้ดีกว่าผ้าทออื่น ๆ
นอกจากนี้ ยังเป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบา ต้นทุนต่ำ เหมาะแก่การใช้แล้วทิ้งดังนั้น เส้นใย polypropylene non-woven จึงเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้
ในกระบวนการผลิตหน้ากากอนามัยและนวัตกรรมทางการแพทย์อื่นๆ
ประเด็นที่สำคัญคือ ประเทศไทยมีเม็ดพลาสติก polypropylene ที่สามารถนำไปผลิตหน้ากากอนามัยให้มีเพียงพอใช้ครบทุกคนราว 70 ล้านชิ้นต่อวันโดยเป็นหน้ากากแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งและใช้ติดต่อกัน 5 เดือน
ทั้งนี้ไทยมีกำลังการผลิต polypropylene กว่า 2.5 ล้านตันต่อปี และถูกนำไปใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์จำพวกเส้นใยราว 5% ของการผลิตทั้งหมด ซึ่งปริมาณการผลิต polypropylene ของไทยมีเพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ
การตั้งบริษัท อินโนโพลีเมด จำกัด ซึ่งเป็น บริษัทร่วมทุนระหว่าง ไออาร์พีซี และ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด (บริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้นทั้งหมด) ด้วยทุนจดทะเบียน 260 ล้านบาท โดย ไออาร์พีซี ถือหุ้นสัดส่วนร้อยละ 60 และอินโนบิก (เอเซีย) ถือหุ้นร้อยละ 40 จึงถือเป็นโอกาสและมุมมองด้านดีๆ ของพลาสติกที่นำมาสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อสู้วิกฤติโควิด -19 ได้อย่างเพียงพอ +++และที่สำคัญหลังจากใช้งานแล้ว ต้องได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธีเพื่อให้ปลอดภัยต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ขอบคุณแหล่งที่มา : https://www.isranews.org/article/isranews-pr-news/99649-isra-covid.html