ติดต่อเรา

แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรม ปี 2564-2566: อุตสาหกรรมพลาสติก



ปี 2564-2566 วิจัยกรุงศรีคาดว่าความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกโลกจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.0-3.0% ต่อปี ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป (IMF คาดเศรษฐกิจโลกจะเติบโต 5.2% 4.2% และ 3.8% ในปี 2564 2565 และ 2566 ตามลำดับ) ด้านราคาเม็ดพลาสติกมีแนวโน้มทรงตัวระดับต่ำ (ภาพที่ 15) ตามราคาน้ำมันดิบโลก ซึ่ง IEA ประเมินราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะอยู่ที่ระดับเฉลี่ยต่ำกว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลจนถึงปี 2566 สำหรับเศรษฐกิจไทยในระยะ 3 ปีข้างหน้าคาดว่าจะฟื้นตัวในช่วง 2.5-4.0% ต่อปี ส่งผลให้อุปสงค์ผลิตภัณฑ์พลาสติกของอุตสาหกรรมต่อเนื่องเติบโตในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ก่อสร้าง ชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องมือแพทย์ ซึ่งมีมูลค่ารวมกันเกือบ 80% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด วิจัยกรุงศรีคาดว่ายอดขายผลิตภัณฑ์พลาสติกในประเทศจะเพิ่มขึ้น 2.0-3.0% ต่อปี (ภาพที่ 16) ขณะที่ปริมาณส่งออกจะเพิ่มขึ้น 2.0-3.0% ต่อปี โดยมีปัจจัยหนุนด้านอุปสงค์ในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม ดังนี้



  • อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติก: ผลสำรวจจาก Smithers Pira คาดว่าปี 2563-2567 ตลาดบรรจุภัณฑ์พลาสติกทั่วโลกจะเติบโตเฉลี่ย 2.8% ต่อปี คิดเป็นมูลค่า 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2567 เพิ่มขึ้นจาก 0.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2562 ขณะที่บริษัทวิจัย Markets and Markets คาดว่าปี 2565 มูลค่าตลาดของบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อน (Flexible packaging) สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคจะอยู่ที่ 1.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นจาก 9.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2559 สำหรับประเทศไทย วิจัยกรุงศรีคาดว่าปริมาณการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกจะทรงตัวถึงเพิ่มขึ้น 1.0% ต่อปี จากที่หดตัว 1.0-2.0% ปี 2563 (ภาพที่ 17) โดยอุตสาหกรรมหลายสาขามีแนวโน้มใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มขึ้น อาทิ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม (รวมอาหารแช่แข็งและแปรรูปต่างๆ)  เวชภัณฑ์และเครื่องสำอาง ภาคค้าปลีกและธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ขณะที่การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 มีผลให้ความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกห่อหุ้มสินค้าเพื่อรักษาความสะอาดเพิ่มขึ้น ส่งผลบวกต่อกลุ่มบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อน อาทิ ถุงพลาสติก กระสอบพลาสติก พลาสติกแผ่น และฟิล์มพลาสติก อย่างไรก็ตาม นโยบายภาครัฐและกระแสรณรงค์ให้ลดและเลิกการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ผลิตจากปิโตรเลียมแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งซึ่งย่อยสลายได้ยาก รวมถึงการพัฒนาพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาจทำให้ความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกพื้นฐานมีแนวโน้มชะลอลงบ้าง
 
  • อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า: ปี 2564-2566 วิจัยกรุงศรีคาดว่าการผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์จะขยายตัวเล็กน้อยจากความต้องการในตลาดต่างประเทศ โดย Hard disk drive (HDD) มีแนวโน้มเติบโต 2.0-3.0% จากความต้องการ HDD ที่มีความจุสูงเพื่อรองรับการใช้งานบนระบบ Cloud computing และ Data center ด้านแผงวงจรรวม (Integrated Circuit: IC) จะเติบโต 3.0-4.0% จากความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ และการขยายตัวของกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information technology: IT) เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่สมาร์ทโฟน (Smart phone) และแท็บเล็ต (Tablet) ซึ่งต้องการรูปลักษณ์ทันสมัยและน้ำหนักเบา สำหรับการผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าจะเติบโตจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั้งตลาดในประเทศ (คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี (ภาพที่ 18) ตามการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์) และตลาดส่งออก (คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 2.0-3.0% ต่อปี (ภาพที่ 19)) จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดเอเชียซึ่งมีแนวโน้มเติบโตดี และยังอาจได้อานิสงส์จากการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าบางประเภทไปสหรัฐฯ แทนจีนซึ่งเผชิญความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐฯ อาทิ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เตาอบ และไมโครเวฟ) ปัจจัยข้างต้นจะหนุนการผลิตชิ้นส่วนพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เกี่ยวข้อง
 
 
  • อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์: ตลาดในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวตามการผลิตยานยนต์ของไทยที่เติบโตเฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี (1.39-1.42 ล้านคัน)  จากที่หดตัว 32.0-33.0% ปี 2563 (ภาพที่ 20) (รถยนต์หนึ่งคันมีพลาสติกเป็นส่วนประกอบมากถึง 50% โดยปริมาตร หรือคิดเป็น 10% โดยน้ำหนัก; สถาบันพลาสติก) แรงหนุนจากการเร่งผลิตรถยนต์ตามแผนส่งเสริมการลงทุน Eco-car รวมถึงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ขอรับสิทธิประโยชน์จาก BOI นอกจากนี้ ความต้องการชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อการทดแทน (Replacement Equipment Manufacturer: REM) มีแนวโน้มขยายตัวตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนรถยนต์ที่มีอายุมากกว่า 5 ปี (คาดเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.0% ต่อปี) ตลาดส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์มีแนวโน้มเติบโตตามการผลิตยานยนต์โลก ขณะที่ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนอาจเปิดโอกาสให้ไทยส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไปทดแทนในตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น (Trade diversion) โดย Euromonitor คาดว่ามูลค่าส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยจะเติบโต 9.2% 5.4% และ 1.8% ในปี 2564 2565 และ 2566 ตามลำดับ จากหดตัว 13.0% ปี 2563 ซึ่งจะช่วยหนุนการผลิตชิ้นส่วนพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เกี่ยวข้อง
  • อุตสาหกรรมก่อสร้าง: การลงทุนก่อสร้างโดยรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งหลายโครงการมีแผนทยอยก่อสร้างตั้งแต่ปี 2564 อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเฟส 1 (สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) และโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดและแหลมฉบังเฟส 3  โดยวิจัยกรุงศรีคาดว่างานก่อสร้างภาครัฐจะขยายตัวเฉลี่ย 6.0-7.0% ในปี 2564-2566 จาก 5.0% ปี 2563 ซึ่งจะเหนี่ยวนำให้เกิดการลงทุนในส่วนของภาคเอกชน (Crowding-in Effect) ซึ่งรวมถึงการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่เชิงพาณิชย์และที่อยู่อาศัย ส่งผลให้การก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัวเฉลี่ย 1.0-2.0% ต่อปี จากที่หดตัว 3.0% ปี 2563 หนุนความต้องการวัสดุก่อสร้างที่ทำจากพลาสติก (ภาพที่ 21) อาทิ พลาสติกแผ่น ท่อพลาสติก และท่ออ่อน
 
  • อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์: มูลค่าการจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 7.5% ต่อปี เพิ่มขึ้นจาก 3.0% ปี 2563 ขณะที่มูลค่าส่งออกจะเติบโตเฉลี่ย 4.2% ต่อปี เทียบกับ 35.0-40.0% ปี 2563 (ภาพที่ 22) ความต้องการอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศจากปัจจัยหนุน ได้แก่ (1) จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทั่วโลกและมักมีภาวะเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อ (NCDs) เรื้อรังตามมา ทำให้มีความต้องการใช้เครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยและใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (2) อัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อและไม่ติดต่อเรื้อรังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) และโรคหัวใจและหลอดเลือด (3) ธุรกิจโรงพยาบาลมีการลงทุนสร้างโรงพยาบาลใหม่และการขยายบริการทางการแพทย์ เช่น จัดตั้งศูนย์รักษาโรคซับซ้อน และ (4) นโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ อาทิ การให้สิทธิพิเศษด้านการลงทุนแก่ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และชิ้นส่วน นอกจากนี้ กระแสการใส่ใจสุขภาพของคนไทยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพและสุขอนามัยเพิ่มขึ้น ช่วยหนุนความต้องการชิ้นส่วนพลาสติก พลาสติกแผ่นและฟิล์ม หลอดพลาสติก บรรจุภัณฑ์พลาสติก และผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง



 
โอกาสและปัจจัยท้าทายของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลาสติก มีรายละเอียดดังตาราง
 

มุมมองวิจัยกรุงศรี:

ปี 2564-2566 คาดว่าอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกจะเติบโตดี โดยมีปัจจัยหนุนจากการเติบโตของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น บรรจุภัณฑ์  ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และก่อสร้าง ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนโดยเฉพาะอุตสาหกรรม New S-Curve จึงมีส่วนหนุนอุตสาหกรรมพลาสติกที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของอุตสาหกรรมดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์พลาสติกบางประเภทจะเผชิญความท้าทายจากการแข่งขันรุนแรงในอุตสาหกรรม และการรณรงค์ให้ลดและเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง จะเป็นปัจจัยจำกัดการเติบโตของอัตรากำไร สำหรับผู้ประกอบการที่มีธุรกิจครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำและมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ที่สามารถบริหารจัดการสต็อกวัตถุดิบ การขายและจัดจำหน่ายได้ดี จะรักษาอัตรากำไรได้ต่อเนื่อง
  • บรรจุภัณฑ์พลาสติก: ผลประกอบการมีแนวโน้มทรงตัวหรือเติบโตในอัตราชะลอลง จากการแข่งขันด้านราคา ขณะที่กระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้ความต้องการบรรจุภัณฑ์พลาสติกพื้นฐานชะลอลงบ้าง เช่น ถุงหูหิ้ว สำหรับผู้ประกอบการที่ผลิตบรรจุภัณฑ์ชนิดกึ่งแข็งกึ่งอ่อนและชนิดอ่อนจะเติบโตดีตามอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม ภาคการค้า และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ขณะที่ผู้ประกอบการที่มีเทคโนโลยีการผลิตทันสมัย ผลิตได้หลายประเภทและมีคุณภาพสูง มีแนวโน้มรักษาระดับการเติบโตได้ต่อเนื่อง
  • แผ่นฟิล์มพลาสติก ท่อพลาสติก หลอดและท่ออ่อน: คาดผลประกอบการจะเติบโตในระดับปกติตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ อาหาร ภาคก่อสร้าง และภาคเกษตร ยกเว้นหลอดพลาสติกสำหรับเครื่องดื่มที่อาจเติบโตชะลอลง ทั้งนี้ ธุรกิจโดยรวมยังคงเผชิญความท้าทายจากการแข่งขันด้านราคาจากผู้ประกอบการที่มีจำนวนมา
  • ผลิตภัณฑ์พลาสติกในครัวเรือน: คาดผลประกอบการจะเติบโตชะลอลง ผลจากตลาดมีการแข่งขันสูง ซึ่งรวมถึงการแข่งขันจากบริษัทผู้ผลิตสินค้าที่มีฐานการผลิตในต่างประเทศโดยเฉพาะจีน ซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าผู้ประกอบการไทย จึงมีความเสี่ยงที่อัตรากำไรจะลดลงต่อเนื่อง
  • ชิ้นส่วนพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ: ผลประกอบการมีแนวโน้มเติบโตตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้ชิ้นส่วนพลาสติกเป็นส่วนประกอบ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือแพทย์ ขณะที่ความเสี่ยงของธุรกิจมาจากการแข่งขันที่รุนแรง จากผู้ผลิตต่างชาติทั้งที่มีฐานการผลิตในไทยและบริษัทคู่แข่งในต่างประเทศ (โดยเฉพาะจีน) ซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า นอกจากนี้ ผู้ประกอบการบางรายยังพึ่งพาลูกค้ารายใหญ่ที่มีจำนวนไม่มาก

ระยะปานกลางถึงยาว ผู้ประกอบการมีแนวโน้มต้องเร่งปรับตัวเพื่อรักษาระดับการเติบโต โดยอาจปรับสายการผลิตที่เน้นผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เพื่อตอบโจทย์ตลาดเฉพาะและรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อาทิ ชิ้นส่วนพลาสติกในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ยานยนต์ไฟฟ้า หุ่นยนต์ และอากาศยาน รวมถึงการผลิตพลาสติกที่ใช้สารชีวมวล (Biomass) เป็นวัตถุดิบ เช่น มันสำปะหลัง ปาล์มและอ้อย เพื่อผลิตพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (พลาสติกชีวภาพ: Bio-plastic) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของโลก ทั้งยังเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่รัฐบาลไทยส่งเสริมการลงทุน และผลักดันให้เป็นธุรกิจดาวรุ่งของประเทศในอนาคต

Credit : https://www.krungsri.com/th/research/industry/industry-outlook/Petrochemicals/Plastics/IO/io-plastics-21